Pixar and Cooper Hewitt Design Museum, NYC

0
3837
พิพิธภัณฑ์ นิวยอร์ก

พิพิธภัณฑ์ นิวยอร์ก แนะนำที่อยากให้เพื่อนๆมากันคือที่ พิพิธภัณฑ์ COOPER HEWITT, SMITHSONIAN DESIGN MUSEUM เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เน้นเรื่องงานออกแบบเป็นพิเศษ อยู่ภายใต้การดูแลของ Smithsonian Institution ตั้งอยู่บริเวณ Upper East Side ของเกาะแมนฮัตตัน

ถ้าถามว่างานออกแบบต่างจากงานศิลปะยังงัย คำตอบก็คืองานออกแบบนั้นทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการใช้งานของคน เพื่อการซื้อขาย ส่วนงานศิลปะนั้นสร้างขึ้นเพื่อจรรโลงจิตใจ ต้องใช้การตีความในการที่จะเข้าใจความหมายที่ศิลปินอยากจะสื่อสาร เราขอแนะนำว่าคนที่เรียนมาสายออกแบบไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์เพียงแห่งเดียวในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เก็บรวบรวมผลงานเกี่ยวกับงานออกแบบในประวัติศาสตร์และงานออกแบบร่วมสมัย นอกจากนี้ที่นี่ยังเก็บรวบรวมผลงานและนิทรรศการการออกแบบที่มีมาประมาณ 240 ปีของวงการออกแบบอีกด้วย มีทั้งงานสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ยุคเก่าก่อน งานสถาปัตยกรรม งานเฟอร์นิเจอร์ และที่สำคัญคือเค้าจะให้อุปกรณ์สุดเท่ชิ้นนึงกับทุกคนที่เข้ามาในพิพิธภัณฑ์นี้ เดี๋ยวมาดูกันว่ามันคืออะไร น่าสนใจดีมั้ยล่ะ

ตอนที่เราไปถึงก็ไม่ได้รู้สึกเลยว่ามันคือพิพิธภัณฑ์ ที่เห็นอยู่ตรงหน้าคืออาคารโบราณตามสไตล์ตะวันตกสูง 4 ชั้นดูคลาสสิค เราตรงไปที่ทางเข้า เดินไปซื้อบัตรพร้อมกับเพื่อนๆ ฝากเสื้อโค๊ทตัวหนาๆเอาไว้ที่จุดบริการก่อนที่จะเข้าไปชมบรรยากาศด้านใน

ที่ พิพิธภัณฑ์ นิวยอร์ก แห่งนี้จะแบ่งการใช้งานทั้งหมดเป็น 5 ชั้น คือ

ชั้น G จะเป็นส่วนที่ให้ข้อมูลทางด้านการศึกษาค้นคว้าด้านงานดีไซน์

ชั้น 1 จะเป็นร้านขายของที่ระลึก ร้านคาเฟ่ สวน ส่วนที่ให้ความรู้ด้านงานสื่อสิ่งพิมพ์ และนิทรรศการหมุนเวียน

ชั้น 2 จะเป็นงานประเภทออกแบบผลิตภัณฑ์

ชั้น 3 จะเป็นงานประเภทสถาปัตยกรรม

ชั้น 4 จะเป็นส่วนของออฟฟิศ

สามารถใช้บัตรนักศึกษาเป็นส่วนลดในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้เหมือนเดิมนะจ๊ะ

พิพิธภัณฑ์ cooper Hewitt 2

พิพิธภัณฑ์ cooper Hewitt

นี่ล่ะคือเจ้าอุปกรณ์สุดเท่ที่เราพูดถึง เป็นปากกาแบบพิเศษที่ใช้เฉพาะในพิพิธภัณฑ์นี้เท่านั้น ลักษณะสำคัญคือ มันใช้สำหรับเขียน วาดภาพ และจิ้มหรือควบคุมปุ่มต่างๆบนหน้าจอของโต๊ะดิจิตอล คล้ายๆกับการใช้เมาส์ปากกาเลย ส่วนที่ปลายด้ามใช้สำหรับการเซฟข้อมูล จะเห็นได้ว่าตามภาพผลงานที่เค้าแสดงโชว์จะมีแผ่นป้ายเล็กๆที่อธิบายรายละเอียดและที่มาของตัวงาน ส่วนที่แผ่นสีขาวนั้นจะมีสัญลักษณ์รูปบวกอยู่ เพื่อความสะดวกสบายของผู้เข้าชมที่อยากจะเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ทางพิพิธภัณฑ์จึงสร้างอุปกรณ์ชิ้นนี้ขึ้นมา เพียงแค่เรานำปลายปากกาไปสัมผัสกับเครื่องหมายบวกที่ป้ายของผลงานที่เราสนใจ เพียงแค่นี้ข้อมูลก็จะถูกเซฟเป็นของเราโดยอัตโนมัติ

ส่วนวิธีการเข้าไปดูข้อมูลก็เพียงแค่เราต้องเก็บบัตรเข้างานเอาไว้ให้ดี เพราะในนั้นจะมี Code เฉพาะของเราเอง แล้วเราก็เข้าไปตามแอดเดรสนี้ได้เลย My File

พิกซาร์ ประวัติ

เราเริ่มต้นที่ชั้นหนึ่งที่เป็นพื้นที่แสดงเกี่ยวกับประวัติและผลงานสิ่งพิมพ์ที่มีมาตั้งแต่ยุคต้นๆ และสิ่งที่เราคิดว่าโชคดีมากคือเค้ามีนิทรรศการหมุนเวียนเรื่องความเป็นมาของ Pixar บริษัทผลิตแอนิเมชั่นผลงานระดับโลกและเป็นบริษัทที่เราคิดว่าเป็นขวัญใจของใครหลายคนเลยทีเดียว

Process Lab & Pixar

แนวคิดของการจัดนิทรรศการ Process Lab and Pixar คือการออกแบบเรื่องราว นำเสนอประสบการณ์กระบวนการออกแบบอันเฉพาะตัวของ Pixar ซึ่งเค้าได้ถ่ายทอดแนวคิดหลักในการสร้างสรรค์เรื่องราว ความน่าเชื่อถือ ความน่าดึงดูด และเครื่องมือในการออกแบบอันได้แก่ งานวิจัย การทำซ้ำ และการร่วมมือกัน เพื่อเป็นการจุดประกายให้กับกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ ผ่านทางงานแบบดั้งเดิมและงานศิลปะแบบดิจิตอล

ที่โต๊ะดิจิตอลขนาดใหญ่ เราจะได้เห็นว่าภาพรวมของ Pixar สัมพันธ์กับผลงานของ COOPER HEWITT ที่มีเป็นจำนวนมากอย่างไร ได้เห็นสถานที่เก็บงานของ Pixar จากผลงานกว่า 700 ชิ้นที่มีทั้งงานสเก็ตช์ งานปั้น งานดิจิตอลดีไซน์ที่มาจากสตูดิโอผลิตหนังทั้ง 15 แห่ง

ร่วมค้นพบว่าลักษณะเด่นอันน่าดึงดูดจากเส้นทางสาย 66 ที่โด่งดังของอเมริกา ถูกนำไปใช้เป็นงานออกแบบภูมิทัศน์และสีสันในโลกของหนังการ์ตูนที่ชื่อว่า Cars ได้อย่างไร ไปดูว่า Woody กลายเป็นตัวละครตังโปรดของผู้คนได้อย่างไร เรียนรู้ว่าทีมงานของ Pixar ร่วมมือกันทำงานในทุกๆขั้นตอนของหนังแต่ละเรื่องได้อย่างไร และมาลองใช้มือสร้างสรรค์ตัวละครอันน่าจดจำของตัวคุณเอง

การเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการออกแบบของ Pixar นั้นจะเพิ่มเติมมุมมองใหม่ๆต่อวิธีการที่คุณดูหนังแอนิเมชั่น และทำให้เข้าใจงานออกแบบเรื่องราวด้วย

 

พิพิธภัณฑ์ นิวยอร์ก 9

Pixar กับการออกแบบเรื่องราว

“ฉันมีความเชื่อเสมอว่าการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่ได้นั้นจะต้องประกอบด้วย 3 สิ่งคือ

1.การเล่าเรื่องราวที่กระตุ้นความสนใจจนผู้ชมไม่อยากลุกจากเก้าอี้

2.การทำให้เรื่องราวนั้นเต็มไปด้วยตัวละครที่น่าจดจำและน่าดึงดูด

3. จากนั้นก็นำเรื่องราวและตัวละครที่น่าดึงดูดใจสองอย่างนี้ออกมาสู่โลกใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

ถ้าคุณสามารถทำทั้งสามสิ่งนี้ได้ ผู้ชมจะคล้อยตามไปกับคุณและจะสนุกไปกับมันอย่างแน่นอน”

พิพิธภัณฑ์ นิวยอร์ก 8

Luxo จูเนียร์

Luxo จูเนียร์ได้สร้างความตื่นตกใจไปทั่วทั้งวงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และภาพยนตร์การ์ตูนแบบดั้งเดิม ณ ขณะนั้น ศิลปินนักวาดการ์ตูนยังกลัวการใช้คอมพิวเตอร์ พวกเขาไม่เคยฉุกคิดเลยว่าคอมพิวเตอร์แทบไม่ต่างอะไรจากอุปกรณ์วาดเขียนของศิลปินเลยด้วยซ้ำ แต่กลับคิดว่าเทคโนโลยีจะมาแย่งงานของพวกเขา โชคดีที่ความคิดนี้เปลี่ยนไปในช่วงต้นของยุคปี 80 กับการเริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การปล่อย Luxo จูเนียร์ออกสู่สาธารณะชนนั้นเป็นการส่งเสริมความคิดของการใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างภาพเคลื่อนไหวในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในหมู่นักวาดการ์ตูนมืออาชีพ

พิพิธภัณฑ์ นิวยอร์ก7

ภาพสเก็ตช์เจ้าโคมไฟ Luxo ตัวการ์ตูนในตำนานที่เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของ Pixar

พิพิธภัณฑ์ นิวยอร์ก 6

ความเรียบง่ายแต่ทว่าซับซ้อน

ความเรียบง่ายแต่ทว่าซับซ้อน มันคือศิลปะของการทำให้ภาพนั้นดูเรียบง่ายขึ้นจนเหลือแค่ใจความสำคัญของมัน แต่ความซับซ้อนที่ถูกสร้างขึ้นมาที่อยู่ที่ชั้นบนสุดอันได้แก่ ลักษณะผิวสัมผัส การออกแบบ หรือรายละเอียดที่ถูกปกคลุมด้วยแบบที่รูปทรงเรียบง่ายเป็น ความเรียบง่ายซับซ้อนจึงเป็นเรื่องของการเลือกสรรรายละเอียดต่างหาก

ในตัวอย่างของภาพก็แสดงออกมาเป็นวิธีการสร้างตัวละครดังๆอย่างเช่นเรื่อง Up, Monster Inc, Inside Out โดยเริ่มจากการสเก็ตช์รูปทรงง่ายๆ เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม วงรี จากนั้นจึงพัฒนาต่อด้วยการเพิ่มรายละเอียดต่างๆของตัวละครลงไป

พิพิธภัณฑ์ นิวยอร์ก 5

โทนสีของบทละคร

โทนสีของบทละคร คือสิ่งที่จะทำให้คุณเห็นมุมอารมณ์ทั้งหมดในเรื่องสีของตัวหนังด้วยการมองผ่านเพียงแค่แว้บเดียว โทนสีนี้คือสิ่งสำคัญที่ใช้ในการวางแผนและขัดเกลาภาพและจังหวะอารมณ์ของหนังเพื่อที่จะเป็นตัวส่งเสริมเนื้อเรื่องเหล่านั้น (โทนสีที่พูดถึงนี้คือแนวความคิดการออกแบบโทนสีของเรื่อง The Incredibles)

ประวัติ Wall E

ความน่าเชื่อ

“เรื่อง Wall E เราสร้างโลกสมมุติที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา แต่มันดูเสมือนจริงมากตรงที่กองขยะและเมืองที่ดูยังงัยก็เหมือนเรื่องจริง มันทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่าสถานที่นี้มีอยู่จริงและพวกเขาก็สามารถเชื่ออย่างมากว่าเรื่องราวเหล่านี้นี้มันสามารถเกิดขึ้นได้”

พิกซาร์

ความร่วมมือกัน

คุณคิดว่าต้องใช้นักออกแบบกี่คนในการสร้างบ้านหลังนี้?

ภาพนี้อธิบายเกี่ยวกับการสร้างบ้านของคุณปู่ในเรื่อง Up ที่มีตั้งแต่ภาพสเก็ตช์ไล่ไปจนถึงภาพสามมิติ ภาพทางฝั่งขวามืออธิบายถึงส่วนประกอบต่างๆของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องมุงหลังคา ปล่องไฟ ผนังบ้าน ถัดลงมาเป็นภาพที่เริ่มลงสีและมีรายละเอียดของสภาพแวดล้อมรอบๆตัวบ้านอย่างเช่นต้นไม้ ขอบรั้ว และตึกที่ขนาบข้างบ้านของคุณลุง ภาพด้านล่างจะเป็นเรื่องราวตอนที่คุณลุงกำลังทำการย้ายบ้านไปผจญภัยตามที่ต่างๆของโลกด้วยการใช้ลูกโป่งสวรรค์ที่ทำให้ตัวบ้านลอยได้ ส่วนภาพทางซ้ายจะเป็นภาพฐานล่างของตัวบ้าน และภาพบ้านหน้าตรงที่เป็นเวอร์ชั่น 3 มิติมีทั้งสีสันและแสงเงาเหมือนในภาพยนตร์จริง แน่นอนว่าทั้งหมดนี้คงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ดีไซน์เนอร์เพียงแค่คนเดียว

พิพิธภัณฑ์ นิวยอร์ก4

จบจากเรื่องนิทรรศการหมุนเวียนของ Pixar แล้วก็มาต่อกันที่ประวัติของวงการสิ่งพิมพ์กันบ้าง

ภาพโปสเตอร์ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร

โปสเตอร์ถูกสร้างขึ้นมาจากกระบวนการพิมพ์ที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละกระบวนการก็จะมีอิทธิพลต่อวิธีคิดและวิธีทำงานของนักออกแบบที่ต่างกันออกไป ขณะที่ภาพพิมพ์จะส่งเสริมให้นักออกแบบสร้างรูปทรงตัวอักษรจากลายมือ และจากตำแหน่งที่ไร้รูปทรง งาน Letterpress หรือแท่นพิมพ์ตัวอักษรจะอยู่บนรูปแบบที่เป็นพื้นฐานเดียวกัน งานระบบอุตสาหกรรมจะถูกจัดวางอยู่ในแนว Grid หรือเส้นบรรทัด ส่วนงาน Silkscreen เป็นงานต้นทุนต่ำ ที่ถูกส่งต่อวิธีการพิมพ์งานอันเป็นที่รู้จักในหมู่ศิลปินและนักกิจกรรมมาอย่างยาวนาน และ ณ วันนี้นักออกแบบสามารถใช้รูปทรงที่หลากหลายจากงานพิมพ์ดิจิตอล เพื่อใช้สำหรับงานพิมพ์ราคาถูกและใช้เวลาในการตีพิมพ์สั้น

หลักการพิมพ์

กระบวนการพิมพ์

ภาพตัวอย่างกระบวนการพิมพ์และอุปกรณ์ที่ใช้

Letterpress งานใช้แท่นตัวอักษร (ภาพซ้ายบน)

Lithography งานภาพพิมพ์ (ภาพขวาบน)

Halftone Process งานที่ใช้ฟิล์มแยกสีเพื่อให้ได้งานที่มีสีสันละเอียดขึ้น (ภาพซ้ายล่าง)

Offset Lithography การพิมพ์งานออฟเซ็ทแบบลูกกลิ้ง (ภาพขวาล่าง)

Screenprint (ภาพขวาล่าง)

การรับรู้เรื่องสี

การรับรู้เรื่องสี

นักออกแบบผลิตภาพโปสเตอร์ 523 ชิ้นขึ้นมา เพื่อสร้างช่องว่างที่ไร้รูปทรงของสีสันที่สามารถเคลื่อนไหวไปยังอีกสีหนึ่งได้อย่างลื่นไหล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยให้พวกเขาจัดกลุ่มภาพโปสเตอร์ได้โดยการแบ่งตามการรวมตัวของสี ความเข้มข้นของสี และตำแหน่งของสี ในภาพโปสเตอร์นามธรรมชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นภาพที่หลอมรวมกันจนกลายเป็นพื้นที่ของสีบริสุทธิ์

สี : แผนภาพ

เหล่านักออกแบบได้คัดเลือกสีเด่นๆ 2 สีออกมาจากแต่ละโปสเตอร์ทั้งหมด  220 ชิ้น พวกเขาจัดวางแถบสีเหล่านี้ในแนวเฉียง จากมุมบนซ้ายไปยังมุมล่างขวา จากสีที่มีเยอะที่สุดไปยังสีที่มีน้อยที่สุด ผลลัพธ์ของแผนภาพนี้เปิดเผยให้เห็นว่าสีดำและสีขาวเป็นสีที่ถูกใช้มากที่สุดในกลุ่ม ในขณะที่สีทองคือสีที่ถูกใช้น้อยที่สุด จึงเป็นการบ่งบอกว่าสถานะของความพิเศษนั้นมีความสำคัญต่อการพิมพ์

ผู้หญิง / ผู้ชาย

เหล่านักออกแบบได้เก็บสะสมภาพผิวของนางแบบและนายแบบจากแผ่นโปสเตอร์โฆษณาทั้งหมด 189 ชิ้น พวกเขาค้นพบว่าภาพของผู้หญิงปรากฎบนสื่อโฆษณามากกว่าภาพของผู้ชาย หน้า แขน และมือถูกจะเป็นส่วนที่มีมากในภาพของผู้ชาย ในขณะที่ภาพหน้าอก หน้าท้อง และแขนมักจะปรากฎในภาพของผู้หญิง ผิวของผู้หญิงแสดงให้เห็นถึงความละมุนและเหมือนภาพในอุดมคติ ในขณะที่ผิวของผู้ชายจะมีลักษณะเป็นกระและกระด้าง

โปสเตอร์คอลลาจ

ภาพโปสเตอร์ในสมัยแรกๆ ภาพซ้ายเป็นงานคอลลาจหรือภาพปะติด ส่วนภาพขวาเป็นงาน Typography หรืองานออกแบบตัวอักษรที่ดูไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

พิพิธภัณฑ์ นิวยอร์ก 3

ภาพโปสเตอร์จากภาพยนตร์เรื่อง คิงคอง ที่ใช้แนวคิดของความเรียบง่าย ดังตัวอย่างในภาพที่ใช้สีน้อย และใช้รูปทรงที่ถูกตัดทอนออกจนเหลือแค่โครงร่างสำคัญ ที่คนทั่วไปสามารถมองออกได้ว่าภาพนี้คือรูปของตัวอะไร

พิพิธภัณฑ์ นิวยอร์ก 2

ภาพโปสเตอร์สไตล์ญี่ปุ่นที่ใช้รูปทรงที่เรียบง่ายเป็นองค์ประกอบของภาพ และยังมีการใช้สีสันที่ตัดกันอย่างเห็นได้ชัดเพื่อเผยให้เห็นเนื้อความที่จะสื่อของภาพ

มีต่อภาค 2 ทางนี้เลยจ้า

อยากรู้ เรื่องราวในอเมริกา เพิ่มเติมทางนี้เลยจ้า